ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คืออะไร



ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็น ภาพฝันของแผนการพัฒนาประเทศ ที่จะกำหนดกรอบและแนวทางการพัฒนาให้หน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนต้องทำตาม เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ "ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" หรือตามคติพจน์ "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" โดยมีระยะเวลาบังคับนานถึง 20 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2579



ตามร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฉบับสรุปย่อ ที่เผยแพร่ต่อประชาชน

มีการแบ่งยุทธศาสตร์ออกเป็น 6 ด้าน คือ
             1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง

            2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

            3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน

            4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม

            5. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

            6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ



ที่มาของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 
คำว่า "ยุทธศาสตร์ชาติ" ถูกพูดถึงบ่อยครั้งในยุครัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนกระทั่งยุทธศาสตร์ชาติถูกเขียนขึ้นอย่างเปิดเผยครั้งแรกใน ตามรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 65 โดยเขียนว่า "มาตรา 65 รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทําแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็น พลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว การจัดทํา การกําหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย และสาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์ชาติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงด้วย


ยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้" จากมาตรา 65 นี้เอง ทำให้ต้องออกกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง เรียกว่า "พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560" เพื่อเป็นกรอบการดำเนินการจัดทำตัวยุทธศาสตร์ชาติของจริง เช่น การแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ และคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินงานของยุทธศาสตร์ชาติของหน่วยงานราชการต่าง ๆ

ทำไมต้องมี ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เคยกล่าวไว้ว่า เราต้องกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันว่าใน 20 ปีข้างหน้า เราต้องการให้บ้านเมืองของเราเป็นอย่างไรแล้วเดินไปตามนั้น มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและเป็นเรื่องที่รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องเดินไปตามนั้น มาจัดสรรทำแผนงาน แผนคน แผนเงิน ไปสู่จุดหมายที่วางไว้ทุกปี ทุกๆ 5 ปี โดยมียุทธศาสตร์พาประเทศพ้นกับดักรายได้ปานกลางให้เร็วที่สุด และใน 20 ปี เราต้องเป็นประเทศที่มีรายได้ที่เพียงพอ

พล.อ.สุชาติ หนองบัว สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมาธิการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.... อธิบายว่า การจัดยุทธศาสตร์ชาติต้องมีระยะยาว อย่างน้อย 10 ปี ขึ้นไป ซึ่งกรอบที่วางไว้ 20 ปีนั้นไม่ถือว่านานเกินไป และที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มียุทธศาสตร์ชาติ มีเพียงยุทธศาสตร์เฉพาะหน่วยงาน เช่น ยุทธศาสตร์ความมั่นคง ยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขยุทธศาสตร์กลาโหม การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะทำให้สามารถวางแผนพัฒนาประเทศ และสามารถกำหนดการดำเนินงานในการพัฒนาประเทศได้ เพราะยุทธศาสตร์ได้กำหนดไว้แล้วว่าจะต้องทำอะไรใน 20 ปีที่ยุทธศาสตร์ชาติบังคับใช้

จากแผนภาพของ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า เมื่อมียุทธศาสตร์ชาติแล้ว ก็ยังคงมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายความมั่นคงแห่งชาติอยู่ด้วย โดยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยังคงมีสถานะใหญ่ที่สุด ทุกอย่างต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงนโยบายของรัฐบาล แผนบริหารราชการแผ่นดิน แผนปฏิบัติการของหน่วยงานต่างๆ ด้วย


ปัญหาของการมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี


1. คนที่มีอำนาจเขียนยุทธศาสตร์ชาติ คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 34 คน ประกอบด้วย กรรมการ โดยตำแหน่ง 17 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 17 คน ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้น โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ เมื่อดูแล้วก็จะพบว่า คนที่เขียนยุทธศาสตร์ชาติ ก็คือ คสช. และคนของ คสช. เอง

 
2. ยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อใช้บังคับแล้ว จะมีผลให้รัฐบาลหน้าที่มาจากการเลือกตั้งต้องแถลงนโยบาย และเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีให้สอดคล้องกับตัวยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า กรอบที่ยุทธศาสตร์ชาติกำหนดไว้ จะสำคัญกว่านโยบายของพรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นผู้เลือกมา

 
3. ยุทธศาสตร์ชาติตัวจริง ไม่ได้ร่างขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น แต่แอบจัดทำไว้ก่อนแล้ว โดยคณะกรรมการชุดหนึ่งที่ตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2558 แต่ร่างฉบับที่เขียนกันไว้ก่อนแล้วก็ไม่เปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ จนกระทั่งไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

 
4. ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เขียนรับรองไว้ว่าการจัดรับฟังความคิดเห็นที่ได้ทำไปก่อนหน้านี้ ให้ถือว่าได้รับฟังความคิดเห็นไปแล้ว


✽✽✽✽✽✽✽✽✽✽✽✽✽✽✽✽✽✽