พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ยื่นสัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงต่อนายกาย ไรเดอร์ (Mr.Guy Ryder) ผู้อำนวยการใหญ่ ILO แสดงเจตจำนงของรัฐบาลไทยยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองการทำงานบนเรือประมงของแรงงานไทยและต่างด้าวสอดคล้องมาตรฐานสากล


เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 เวลา 21. 00 น.(ตามเวลาในประเทศไทย) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ  นครเจนีวา พร้อมด้วย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะ ยื่นสัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง พ.ศ.2550 (ค.ศ.2007) ต่อ นายกาย ไรเดอร์ (Mr.Guy Ryder) ผู้อำนวยการใหญ่ ILO เป็นผู้ต้อนรับและรับสัตยาบันสาร  ห้อง Cabinet สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ  นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส 

รมว.แรงงาน กล่าวถึงเจตจำนงของรัฐบาลไทยในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ฉบับที่ 188 ว่าที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้มีกระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ภาคประชาชน ภาควิชาการ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เห็นพ้องว่า การให้สัตยาบันจะเป็นประโยชน์ทั้งกับแรงงาน นายจ้าง และภาพลักษณ์ของภาคประมงไทย และสินค้าประมงไทย 

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า การให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของไทยในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองการทำงานบนเรือประมงของทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวให้ดียิ่งขึ้นและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และป้องกันความเสี่ยงที่แรงงานจะตกอยู่ในสภาพแรงงานบังคับ เนื่องจากอนุสัญญาจะช่วยสร้างหลักประกันให้เกิดสภาพการทำงานที่มีคุณค่าแก่แรงงานประมง เช่น การกำหนดชั่วโมงการทำงาน คุณภาพที่พักอาศัย อาหาร น้ำดื่ม การรักษาพยาบาลระบบการตรวจแรงงานและความเป็นอยู่บนเรือประมง เป็นต้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการทำประมงที่มีจริยธรรมและมีธรรมาภิบาล และยังดึงดูดแรงงานให้เข้ามาทำงานในภาคประมงมากขึ้น อันจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงต่อไปด้วย ส่วนความเชื่อมโยงกับการปลดใบเหลืองนั้น รัฐบาลไทยได้ผลักดันการทำงานเพื่อระดับการคุ้มครองแรงงานในภาคประมง ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหา IUU มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไทยมีการทำการประมงอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของรัฐบาล โดยมีการดำเนินมาตรการหลายประการ รวมถึงการจัดระเบียบการทำประมงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการให้สัตยาบันพิธีสารของอนุสัญญาฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ และอนุสัญญาฉบับที่ 188 จะมีผลทำให้มาตรการทางกฎหมายและการบังคับใช้ มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก และเชื่อมั่นว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไทยได้รับการเลื่อนลำดับประเทศที่มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์จาก Tier 2 Watch List เป็น Tier 2 ในปีที่ผ่านมา และล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ม.ค.62 สหภาพยุโรปได้ประกาศปลดสถานะใบเหลืองของภาคประมงไทย อันแสดงถึงการยอมรับต่อความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหา IUU ของไทย ซึ่งมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไทยได้รับสถานะใบเหลืองเมื่อปี 2558 จนประสบความสำเร็จในการยกระดับอุตสาหกรรมการประมงของไทยทั้งระบบในปัจจุบัน ซึ่งทำให้สหภาพยุโรปยอมรับ ขณะนี้ไทยมีกลไกแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายที่เข้มแข็งที่สุดในภูมิภาค และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประเทศต่าง  ที่มีปัญหาเดียวกันได้

นายกาย ไรเดอร์ (Mr.Guy Ryder) ผู้อำนวยการใหญ่ ILO ได้กล่าวสรุปสาระสำคัญในโอกาสที่ประเทศไทยได้เข้ายื่นสัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 ในครั้งนี้ ได้แก่ 1) ขอบคุณ และแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งการที่ประเทศไทยให้สัตยาบันในครั้งนี้เป็นการแสดงออกถึงความสำคัญในการคุ้มครองแรงงานประมง ทั้งนี้ ILO พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยที่แสดงถึงความเข้มแข็งในการคุ้มครองแรงงานประมงครั้งนี้ ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติขึ้นไปอีก 2) และเนื่องในโอกาสที่ครบรอบ 100 ปี ของ ILO ซึ่งจะมีการจัดการประชุม ILC ครั้งที่ 108 ในเดือนมิถุนายน 2562 ที่จะถึงนี้  กรุงเจนีวา ILO ได้เรียนเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นเกียรติแก่ ILO ในการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย 3) นอกจากนี้ ILO ยังได้ให้การสนับสนุนบทบาทของประเทศไทยอย่างเต็มที่ในการทำกิจกรรมในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในครั้งนี้อีกด้วย

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ยังกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการแก้ไขกฎหมายต่าง  เพื่อให้รองรับกับอนุสัญญา ฉบับที่ 188 นั้น ขณะนี้ประเทศไทยมีกฎหมายภายในที่สอดคล้องอยู่แล้ว 11 เรื่อง ส่วนที่ยังไม่สอดคล้องอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดยจะดำเนินการให้สอดคล้องกับบริบทของประมงไทยอีกด้วย
******************